บทที่1: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสารเคมี-น้ำยาในการทำความสะอาด

Lesson 4/11 | Study Time: 11 Min
บทที่1: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสารเคมี-น้ำยาในการทำความสะอาด

  1. ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับสารเคมี-น้ำยาในการทำความสะอาด

สารเคมี หมายถึง  สารอนินทรีย์ หรือสารอินทรีย์ที่อาจปรากฏอยู่ในธรรมชาติ หรือถูกสังเคราะห์ขึ้นจากปฏิกิริยาต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว สารเคมีจะมีสถานะอยู่ 3 สถานะเช่นเดียวกันกับสสาร ได้แก่

  • ของแข็ง เช่น ผงโซดาไฟ ผงซักฟอก
  • ของเหลว เช่น น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์
  • ก๊าซ เช่น สเปรย์ปรับอากาศ

หรือ แบ่งตามลักษณะการเกิด

  • เกิดจากการสังเคราะห์ เช่น สารเคมี น้ำยา ทำความสะอาด รวมถึงฆ่าเชื้อโรค ต่าง ๆ
  • เกิดจากธรรมชาติ เช่น เกลือ มะนาว กากจุลินทรีย์ (EM- Effective Microorganisms)

สารเคมี-น้ำยาทำความสะอาด บางชนิดมีสมบัติเป็นกรด สามารถกัดกร่อนหินปูน ทำให้คราบสกปรกที่เกาะอยู่หลุดลอกออกมาด้วย ถ้าใช้สารชนิดนี้ไปนานๆ จะทำให้พื้นสึกกร่อน และยังทำให้เกิดความระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจและผิวหนังอีกด้วย

การใช้ในปริมาณมากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยทำความสะอาดได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม อาจทำให้สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อม

ส่วนประกอบหลักของสารเคมี-น้ำยา ทำความสะอาดโดยทั่วไปประกอบด้วย

  • สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) : ทำให้สิ่งสกปรกหลุด แล้วแขวนลอยในน้ำ
  • กรด (Acid) : ละลายแคลเซียม ขจัดคราบตะกอนอนุภาคโลหะ
  • ด่าง (Alkali) : ปรับค่า pH ให้สูงขึ้น ทำปฏิกิริยาได้ดีในการขจัดคราบไขมัน
  • สารลดความกระด้างของน้ำ (Builder) : ช่วยทำให้สิ่งสกปรกแขวนลอยอยู่ในน้ำ ไม่กลับไปตกค้างบนพื้นผิวของสิ่งที่ถูกทำความสะอาด
  • ตัวทำละลาย (Solvent) : ละลายไขมันและเพิ่มความสามารถในการละลายของส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ยังอาจมีส่วนประกอบอื่นอีก เช่น สารขัดถู, สารฟอกสี, สารต้านจุลินทรีย์, สี, น้ำหอม, สารกันเสีย, สารโพลิเมอร์ เป็นต้น